ประเพณีสู่ขวัญ หรือภาษาเหนือเรียกว่า "ฮ้องขวัญ" หรือ "สู่ขวัญ" เป็นคติความเชื่อของชาวเหนือ ซึ่งขวัญเป็นนามธรรมที่ล่องลอยอยู่ทั่วไปตามตัวมนุษย์ ถ้ามนุษย์เกิดความกลัวสุดขีดหรือสะดุ้งกลัว ขวัญก็จะหนีออกจากร่างกายทำให้คนนั้นมีอันเป็นไปต่างๆ นานา เจ็บไข้ได้ป่วยตลอด ดังนั้น จำต้องทำพิธีเรียกขวัญหรือสู่ขวัญเพื่อเชิญกลับมา อาการจึงจะเป็นปกติ การเรียกขวัญมีหลายวิธี เช่น
- พิธีเรียกขวัญคนเจ็บไข้ได้ป่วย
- พิธีเรียกขวัญจากการตกใจในเหตุการณ์ต่างๆ
- พิธีเรียกขวัญผู้จากไป หรือผู้เข้ามาใหม่ เป็นต้น
พิธีกรรมประเพณีสู่ขวัญของภาคเหนือ มีขั้นตอนการปฏิบัติ คือ ขั้นแรกจะมีการทำบายศรีก่อน จากนั้นก็จะทำการตัดด้ายสายสิญจน์ใส่ใสพาน และนำเครื่องบายศรี ซึ่งประกอบด้วย ข้าวเหนียว หรือข้าวเจ้า ๑ ถ้วย ไข่ต้ม(ปอกเปลือกแล้ว)๒ ฟอง กล้วย ๒ ใบ ขนม ๒ ชิ้น ผลไม้ ๒ ผล หมากพลูและบุหรี่ อย่างละนิดหน่อยไปวางตรงกลางของพานบายศรี
ต่อจากนั้นจะเป็นการทำพิธีสะเดาะเคราะห์หรือปัดเคราะห์ และเชิญขวัญในเรือนร่างมารับประทานอาหารในพานบายศรี จากนั้นผู้ทำพิธีจะนำด้ายสายสิญจน์ผูกที่ข้อมือผู้ที่จะเรียกขวัญ ก็เป็นอันเสร็จพิธี เมื่อเสร็จพิธีแล้วผู้ที่เรียกขวัญจะต้องเก็บด้ายสายสิญจน์และพานบายศรีไว้ ๓ วัน ๓ คืน เพื่อให้ขวัญคุ้มครอง
นอกจากพิธีเรียกขวัญมนุษย์แล้ว ยังมีการเรียกสัตว์พาหนะหรือที่เรียกว่า พิธีเรียกขวัญควาย
พิธีกรรมของการเรียกขวัญวายกระทำโดยเจ้าของควายนำควายไปอาบน้ำให้สะอาด จากนั้นนำข้าวตอกดอกไม้ใส่กรวยใบตองไปผูกไว้ที่เขาควายทั้งสองข้าง และจัดอาหารอีกชุดหนึ่งคือ ไก่ต้ม ๒ ตัว เหล้า ๑ ขวด ข้าวเปลือก ๑ กระทง ข้างสาร ๑ กระทง ขนมหวาน หมาก พลู บุหรี่ และหญ้าอ่อน ๑ คำ สำหรับทำพิธี จากนั้นผู้ทำพิธีจะจุดธูปและท่องคาถาเสร็จแล้วนำน้ำมนต์ไปประพรมที่ตัวควาย เป็นอันเสร็จพิธีเรียกขวัญ