คำว่า "ปอยหลวง" แปลว่า ฉลอง และ "หลวง" แปลว่า ใหญ่โต ดังนั้นงานปอยหลวงจึงหมายถึง งานฉลองที่ใหญ่โต ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฎิบัติของชาวเหนือมาช้านานแล้ว งานปอยหลวง คือ งานฉลองสมโภชวัด เช่น สร้างกุฎิใหม่ สร้างพระวิหารหลวงใหม่ สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ หรือปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ใหม่ เป็นต้น
เมื่อมีการสร้างกุฎิใหม่ หรือปฎิสังขรณ์พระเจดีย์ใหม่ หรือศาสนสถานอื่นๆ เสร็จแล้วก็จะมีการฉลองอันยิ่งใหญ่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๗ วัน โดยจะมีการบอกบุญไปยังวัดใกล้เคียงอีกด้วย อนึ่ง สิ่งที่ถือเป็นธรรมเนียมของงานปอยหลวงนั้นคือ เมื่อวัดต่างๆ ได้รับใบฎีกา (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ใบฎีกาแผ่นหน้าบุญ) แล้วจะปฎิเสธไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นมารยาทที่จำเป็นจะต้องไปร่วมงานปอยหลวงนั้น และเมื่อวัดอื่นๆ ทราบข่าวก็จะมีการบอกบุญไปยังชาวบ้าน จากนั้นเจ้าอาวาสวัดก็จะรวบรวมจตุปัจจัยไทยทานต่างๆ และจัดเป็นขบวนแห่งไปยังวัดที่มีงานปอยหลวง ซึ่งขบวนแห่งเครื่องไทยทานของวัดต่างๆ นั้น เรียกว่า "แห่ครัวทานเข้าวัด" อีกทั้งยังมีการประกวดขบวนแห่งของวัดต่างๆ อีกด้วย
พิธีกรรมของงานปอยหลวงจะจัดขึ้นก่อนถึงวันจริง ๑ วัน เรียกว่า "วันดา" โดยชาวบ้านจากหมู่บ้านใกล้เคียงจะนำสิ่งของที่เตรียมไว้ไปถวายวัดที่จะจัดงานปอยหลวง เรียกสิ่งของเหล่านี้ว่า "ครัวทาน" หรือ "ครัวตาน" ส่วนวัดที่จัดงานปอยหลวงจะมีการจัดทำธงและนำไปปักบริเวณรอบวัดและทางเข้าวัด ในตอนเย็นจะมีการนิมนต์พระอุปคุตมาไว้ที่หออุปคต เพราะมีความเชื่อว่าพระอุปคุตจะคุ้มครองและป้องกันภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ในช่วงที่มีการจัดงาน
พอถึงวันแรกของงานปอยหลวง ชาวบ้านจะนำเครื่องไทยทานมาไว้ที่วัด วันที่สองของงานชาวบ้านจากวัดอื่นๆ จึงจะแห่เครื่องไทยทานมายังวัดที่มีงานปอยหลวง ส่วนชาวบ้านของวัดที่จัดงานหรือเจ้าภาพจะเตรียมอาหารคาวหวานไว้ต้อนรับผู้ที่มาจากวัดอื่นๆ ในวันสุดท้ายก็จะมีการทำบุญตักบาตรและถวายสิ่งปลูกสร้างที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ
ด้วยเหตุผลนี้จึงกล่าวได้ว่า งานปอยหลวง เป็นงานบุญที่แสดงถึงความสามัคคีของคนชาวเหนืออย่างน่าชื่นชมที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างช้านาน